พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
(๒๔๕๕ – ๒๕๔๘)
วัดอรัญบรรพต ตำบลบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
     
 
นามเดิม
 
เหรียญ ใจขาล
 
เกิด
 
วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๕
 
 
บ้านเกิด
 
ตำบลบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
 
 
บิดามารดา
 
นายผา และนางพิมพา ใจขาล มีอาชีพทำนา
 
พี่น้อง
 
รวม ๗ คน
 
อุปสมบท
 
เดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๗๕ (มหานิกาย) อุโบสถวัดบ้านหงษ์ทอง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคายท่าน
 
 
โดยมีพระครูวาปีดิฐวัตร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์พรหมเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ญัตติเป็นพระธรรมยุตวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๖ วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูประสาทคณานุกิจเป็นพระกรรมวาจาจารย์
 
เรื่องราวในชีวิต
 
กิเลสมาร มีความหนาแน่นอย่างหาประมาณมิได้ฉันใด มนุษย์ผู้มีปัญญา ย่อมหาทางหลีกเพื่อหลุดพ้นจนสามารถตัดขาด
 
 
ฝ่าฟันกิเลสเพราะมองเห็นบาป มองเห็นบุญ และเห็นคุณเห็นโทษ เห็นประโยชน์ชาตินี้ และประโยชน์ชาติหน้านั่นคือพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เจริญรอยตามทางสอนขององค์พระศาสดาสัมนาสัมพุทธเจ้าเป็นทางเดินมรรคผลนิพพาน พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ นามเดิมท่าน เกิดที่ (วันเดือนปีจำไม่ได้เพราะอาจคลาดเคลื่อนด้วยมารดาได้เสียชีวิตตั้งแต่อายุท่านยังเยาว์วัย) ชีวิตในสมัยเป็นเด็กช่างอาภัพยิ่งนัก เหตุเพราะมารดาได้สิ้นชีวิตลงไป เมื่ออายุของท่านเพียง ๑๐ ขวบเท่านั้น อายุได้ ๒๐ ปีเศษ บิดาได้นำตัวมาถวายแก่เจ้าอาวาสวัดหงส์ทอง เพื่ออุปสมบท โดยจัดขึ้นอย่างง่าย ๆ คือโกนผม คิ้วแล้วเข้าพระอุโบสถเลย
ภายหลังจากบวชเป็นพระภิกษุ ที่วัดหงส์ทอง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ท่านก็ได้กราบลาพระอุปัชฌาย์ มาอยู่จำพรรษาที่วัดศรีสุมัง เข้าศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรมบาลีธรรมต่าง ๆ จนสามารถสอบได้นักธรรมตรี ต่อมาจิตใจมีแนวโน้มต่อการปฏิบัติ เพราะได้รับพระเมตตาจากท่านพระอาจารย์จันทร์ พระธุดงค์องค์หนึ่ง ให้ยึดคำบริกรรมว่า พุท-โธ
ครั้นออกพรรษา ท่านได้ไปเยี่ยมบ้าน ก็พอดีกับพระธุดงค์กรรมฐาน ได้มาพักปักกลดอยู่กลางป่าใกล้หมู่บ้าน และโยมบิดามีความเคารพมาก
ท่านจึงเข้านมัสการมองเห็นปฏิปทาน่าเคารพกราบไหว้บูชามาก เลื่อมใสในองค์ท่าน จึงเข้าถามชื่อเสียงเรียงนาม ได้รับคำตอบว่า พระกู่ ธมมฺทินโน จำพรรษาอยู่ที่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนครเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ท่าน จึงได้ออกติดตามไปกับพระอาจารย์กู่ ธมมฺทินโน ออกเดินธุดงค์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาถึง ๒ พรรษา ต่อมาเดินธุดงค์เดี่ยวเสีย ๕ พรรษา ขณะอยู่กลางป่าดงนั้นก็ได้ทราบว่า หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ไปวิเวกอยู่ทางภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ท่านติดตามไปจนพบและได้ฝากตัวเป็นศิษย์ท่านองค์หนึ่ง เมื่อได้รับอุบายธรรมสั้น ๆ ที่ท่านหลวงปู่มั่น ให้สติแล้ว…ท่านก็ปฏิบัติตาม จนบังเกิดผลทางใจอย่างล้นเหลือ เกิดประโยชน์ในกาลต่อมาเป็นอันมาก ท่านได้มีโอกาสอ่านหนังสือธรรมของท่านพระอาจารย์ สิงห์ ขันตยาคโม ชื่อว่า การเข้าถึงพระไตรสรณคมน์และในช่วงชีวิตขณะนั้นท่านมองเห็นทุกข์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะมารดาผู้ให้กำเนิดเสียชีวิตลงไป ทำให้ชีวิตของท่านว้าเหว่ดังกับว่า โลกนี้ท่านไม่มีใครจะให้ความอบอุ่นแก่ชีวิตได้เลย นอกจากมารดาเพียงคนเดียวเท่านั้น เมื่อพร้อมกาย วาจา ใจออกอุทิศชีวิตแก่พระศาสนาแล้วท่าน ก็ได้เร่งการภาวนาธรรมอย่างชนิดทุ่มเทจิตใจ จนบังเกิดปีติในธรรมเกิดความอบอุ่นแก่ชีวิตว่า… “ธรรมเป็นสิ่งประเสริฐ แม้ธรรมะประดิษฐานอยู่กลางดวงจิตดวงใจของผู้ใดแล้ว ผู้นั้นจะได้รับความอบอุ่นใจ มีที่พึ่งอันถาวรสมบูรณ์ทุกประการ จะไม่มีสิ่งใด ๆ ในโลกที่จะให้ความอบอุ่นยิ่งกว่าธรรมะ”
ท่านเป็นพระสุปฏิบัติที่มีภูมิธรรมสูงอีกองค์หนึ่ง แห่งจังหวัดหนองคาย ความเมตตาปราณีของท่านเต็มเปี่ยมเสมอของผู้ที่ประสงค์จะไปบริโภคดื่มกิน ความเยือกเย็นแห่งจิตใจ ความดีในธรรมะปฏิบัติ ท่านพระอาจารย์เหรียญได้นำมาเผยแพร่ไปในหมู่ชนทุกชั้นด้วยความยินดี ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่น่ากราบไหว้บูชามาก ความเป็นพระผู้เมตตา ความเป็นพระผู้มีสันโดษ จริยาวัตรอันงดงาม ปฏิปทาแห่งการปฏิบัตินั้น ท่านได้เจริญตามครูบาอาจารย์ระดับสูง โดยเฉพาะในสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
 
มรณภาพ
 
วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๘ สิริอายุ ๙๓ ปี ๗๓ พรรษา
ข้อมูลพิเศษ
 
* ท่านได้จำพรรษาที่สำนักสงฆ์สวนจิตรดา ซึ่งเป็นสำนักสงฆ์ที่ในหลวงทรงสร้างขึ้นไว้ในเขตตำหนักสวนจิตรดา
   
ธรรมโอวาท:
 

“...โยมทุกคน ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด แม้เมื่อได้มา ได้ผ่านมาทางจังหวัดหนองคายแล้ว วัดอรัญบรรพต ซึ่งเป็นมรดกของพระศาสนาเป็นสมบัติของพวกท่าน จงอย่าได้เกรงใจเลย มาอยู่มานอนเพื่อปฏิบัติธรรมกัน อาตมายินดีที่สุดในเรื่องการปฏิบัติธรรม เพราะการให้อย่างอื่น เช่น ข้าวปลาอาหาร ตลอดจนถึงวัตถุต่าง ๆ อาตมาก็ยังไม่สมใจ เหมือนกับการให้ธรรมะแก่คณะญาติโยม การให้ธรรมะแม้อาตมาเจ็บป่วยอยู่ ก็คิดว่าคงหายทันที เมื่อมีบุคคลมาขอฟังธรรมะนะ…”
“...ใครจะทำดี ก็เป็นความดีของผู้นั้นใครกระทำชั่วก็เป็นความชั่วของผู้นั้น เราจะไปลบล้างความชั่วเขา ไม่ได้เขาเองต้องลบล้างความชั่วเขาเอง เมื่อเขารู้ตัวเมื่อใดว่าอ้อเรานี่ทำผิด ทำชั่วแล้วอย่างนี้เขากลับจิตเขาไม่ทำอีกต่อไปแล้ว อย่างนี้ความชั่วมันจึงจะหมดไป...”


“...คนมีจิตเป็นกลางนี่นะ น้อมสติเข้าไปสำรวมจิต คือความรู้สึก ตั้งอยู่ในท่ามกลางอกภายใน ร่างกายนี้จิตดวงนี้แหละ ความจริงจิตดวงนี้อาศัยอยู่ หทัยวัตถุคือเนื้อหัวใจ เนื้อหัวใจนี้อยู่ในท่ามกลางอกนี่ แขวนอยู่ในกลางอกนี่แหละ ดวงจิตมันมาปฏิสนธิในท้องของมารดา ก็มาอาศัยธาตุของมารดาบิดา ธาตุบุญกุศลมาตกแต่ง หัวใจให้ ฉากแรกนะ ก็มีหัวใจจิตได้อาศัยแล้ว แล้วก็ตกแต่งอวัยวะส่วนอื่น ตาหู จมูก ลิ้น กาย มือเท้า อะไรต่างๆ ต่อไป ให้พากันเข้าใจ...”

 

     
   
   
หน้าหลัก | หน้าก่อน | หน้าต่อไป   
     
     
 
วัดสันติธรรม ต.ช้างเผือก อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๓๐๐
โทร. ๐๕๓-๒๒๑๗๙๒  ๐๘-๗๑๙๓-๓๑๖๙  ๐๘-๖๑๘๗-๓๙๔๒ และ ๐๘-๑๖๐๒-๗๕๐๐